


ประวัติศาสตร์
ภูมิประเทศ
ภูมิอากาศ
สถานที่ท่องเที่ยว




































































|
สถานที่ท่องเที่ยว
1. เจดีย์ 3 องค์
เจดีย์ 3 องค์ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดฉงเซิ่ง บริเวณทางเหนือของเมืองต้าหลี่เก่า สถานที่แห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองต้าลี่ นอกจากเมืองที่คงสภาพสมบูรณ์จนได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแล้ว ความงดงามของเจดีย์ สามองค์แห่งต้าหลี่ ก็เป็นที่เลื่องลือในฐานะสัญลักษณ์ทาง ประวัติศาสตร์ที่คนทั่วโลกปรารถนาจะได้ชมสักครั้งหนึ่งในชีวิต
เจดีย์สามองค์อยู่ห่างไปทางเหนือของเมืองเก่าต้าหลี่ประมาณหนึ่งกิโลเมตร ตั้งตระหง่านเผชิญหน้ากับทะเลสาป เอ๋อไห่ ที่มีสมญานามว่าไข่มุกบนที่ราบสูง ด้านหลังเป็นภูเขา ชางซาน ที่สูงเสียดฟ้าและปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนตลอดปีเจดีย์ทั้งสามก่อสร้างด้วยอิฐ องค์ใหญ่ที่สุดและเป็นองค์แรกมีรูปทรงสี่เหลี่ยม สูง 69.13 เมตร สร้างในค.ศ.836 สมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งผู้คนเชื่อว่าโลกเป็นแผ่นดินสี่เหลี่ยม คาดว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เจดีย์แบ่งเป็น 16 ชั้น แต่ละชั้นมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ยากจะพบในเจดีย์อื่นๆ
ส่วนเจดีย์อีกสององค์ สร้างในสมัยราชวงศ์ซ้อง เป็นทรงแปดเหลี่ยม (ชาวจีนถือว่ารูปแปดเหลี่ยมขึ้นไปคือทรงกลม) สูง 42.19 เมตร มีสิบชั้น เจดีย์สององค์นี้ตั้งอยู่ห่างกัน 97.5 เมตร และห่างจากเจดีย์องค์ใหญ่ 70 เมตรเท่ากัน การจัดวางของเจดีย์ทั้งสามองค์จึงเป็นรูปสามเหลี่ยมที่สมมาตรกันอย่างสวยงาม แต่เดิมเจดีย์สามองค์เป็นส่วนหนึ่งของวัดฉงเซิ่ง ที่สร้าง ในค.ศ.840 บนเนื้อที่กว่า 12 ตารางกิโลเมตร เป็นวัดที่กว้างใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพระพุทธรูป ถึง 11,400 องค์ มูลค่าการก่อสร้างรวมแล้วเทียบได้กับทอง คำถึง 21,757 กิโลกรัม
ในประวัติศาสตร์ วัดนี้เคยเป็นศูนย์กลางประกอบพิธีทางศาสนาของเขตทางภาคใต้และเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พุทธศาสนิกชนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเรียกขานกันว่า ‘พุทธมณฑล’ มีบันทึกว่า ผู้ปกครองต้าหลี่ ถึงเก้าคนสละตำแหน่งเพื่อบวชเป็นพระที่วัดแห่งนี้
วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1515 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้เจดีย์เล็กสององค์เอียงเข้าหาองค์ใหญ่เล็กน้อย ส่วนเจดีย์องค์ใหญ่ก็เกิดรอยแตกร้าว แต่รอยนั้นก็หายไปเองราวปาฏิหาริย์ แต่ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1851-1861) วัดฉงเซิ่งก็ถูกไฟไหม้ เสียหายมากมาย การบูรณะเจดีย์สามองค์ในช่วงปี ค.ศ.1978-1979 ทำให้พบโบราณวัตถุจากศตวรรษที่ 7-10 กว่า 600 ชิ้นภายในองค์ เจดีย์ นับเป็นหลักฐานทางพุทธศาสนาที่มิอาจประเมินค่าได้
ส่วนวัดฉงเซิ่งนั้น มีการบูรณะครั้งใหญ่ในค.ศ.2002-2005 ด้วยจุดมุ่งหมายให้เกิดความสมบูรณ์สอดคล้องกับเจดีย์สามองค์ โดยคงรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ เจดีย์สามองค์ถูกเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า ‘เจดีย์ข่มมังกร’ มีบันทึกว่าพื้นที่แถบนี้เคยประสบอุทกภัยสร้างความเสียหายทางการเกษตรเป็นอย่างมาก มีการสำรวจฮวงจุ้ยแล้วก็พบว่า บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของมังกร เมื่อใดที่มังกรพลิกตัว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขึ้น จึงได้มีการสร้างพระเจดีย์ที่มีรูปทรงแตกต่างกันสามองค์ขึ้นมาเพื่อทับตัวมังกรไว้
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า มังกรขึ้นมาเล่นน้ำที่ทะเลสาปเอ๋อไห่ ทำให้น้ำล้นไหลท่วมบ้านเมือง ชาวต้าหลี่โบราณเชื่อว่ามังกรเกรงกลัวเจดีย์ จึงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อไม่ให้มังกรขึ้นมาเล่นน้ำ เป็นที่น่ามหัศจรรย์ว่าเมื่อเจดีย์สร้างเสร็จ พื้นที่บริเวณนี้ ก็ไม่เคยมีน้ำท่วมอีกเลย ผู้คนที่เดินทางเข้าสู่ต้าหลี่ จะมองเห็นเจดีย์สามองค์ได้ตั้งแต่ระยะไกล ตั้งเด่นเป็นสง่าท่ามกลางเทือกเขาเขียวขจีและท้องทุ่งสีมรกต ในยามเช้าแสงตะวันจะสาดส่องเจดีย์สาม องค์จนเป็นสีทองอร่าม
ด้านหลังองค์เจดีย์มีบึงชื่อว่า ‘จูหยิง ชิ’ หรือบึงสะท้อนแสงเงาของเจดีย์จะปรากฏอยู่บนผิวน้ำใสราวกระจก เกิดเป็นภาพงดงามของเจดีย์หกองค์ที่ตระหง่านภายใต้ท้องฟ้าสีคราม ส่วนในยามค่ำคืน องค์เจดีย์จะถูกประดับประดาด้วย แสงไฟเป็นประกายเรืองรอง แม้ว่าเจดีย์สามองค์จะรอดพ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดมา แต่รัฐบาลท้องถิ่นยังคงบูรณะซ่อมแซมอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ศาสนสถานแห่งนี้คงความแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ งดงามเฉกเช่นที่เคยเป็นมากว่า 1,800 ปี
วัฒนธรรมและศาสนาของชาวไป๋เป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมไป๋ดั้งเดิมกับวัฒนธรรมจีน อินเดีย และทิเบต
2. ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่
ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ หรือในภาษาไทลื้อและไทใหญ่เรียกว่า หนองแส (แปลว่า ทะเลสาบที่มีน้ำท่วมเจิ่ง) ตั้งอยู่บนที่ราบสูงในเมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ระดับความสูง 1,972 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีความยาวจากริมฝั่งทิศเหนือจรดทิศใต้ 40 กิโลเมตร และจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกประมาณ 7-8 กิโลเมตร มีพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นทะเลสาบบนที่ราบสูงที่ใหญ่เป็นอันดับสองในสาธารณรัฐประชาชนจีน รองจากทะเลสาบเตียนฉือ ฝั่งทะเลสาบมีความยาวโดยรอบ 116 กิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 11 เมตร และความจุน้ำ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นทะเลสาบที่มีความสวยงามอย่างยิ่ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของมณฑลยูนนาน
ทะเลสาบแห่งนี้ คนไทยเรียกว่า "หนองแส" หรือ "หนองแสร์" และเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นความเชื่อเรื่อง พญานาค ด้วยเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำโขงและเป็นที่ตั้งของอาณาจักรน่านเจ้าในอดีต ที่เชื่อกันว่าเป็นต้นบรรพบุรุษของคนไทย ที่ทะเลสาบแห่งนี้ ยังมีการประมงด้วยวิธีการพื้นบ้าน คือ การใช้นกกาน้ำ ที่ชาวประมงเลี้ยงไว้จนเชื่อง ดำน้ำลงไปจับปลาให้ วิธีการจับปลาแบบนี้มีมาอย่างยาวนานกว่า 1,500 ปีแล้ว จนเป็นวิถีชีวิตพื้นบ้าน แต่การจับปลาด้วยนกกาน้ำในปัจจุบันได้ลดจำนวนลงตามกาลเวลา การจับปลาด้วยนกกาน้ำนี้ถือเป็นจุดสำคัญในการท่องเที่ยวของทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ประการหนึ่ง
3. ภูเขาชางซาน (Cangshan)
มีความยาว 50 กิโลเมตรทอดยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ มีความสูงเฉลี่ยเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 3,500 เมตร ประกอบด้วยยอดเขาทั้งหมด 19 ยอด โดยยอดเขาที่สูงสุดมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเท่ากับ 4,122 เมตร มีแหล่งต้นน้ำลำธารทั้งหมด 18 สาย ซึ่งก่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เช่น น้ำตกชิงปี้ (Qingbi Xi) ทะเลสาบสีหม่า (Xima Tan) ทะเสสาบหวงหลง (Huanglong Tan) ทะเลสาบเฮยหลง (Heilong Tan) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีพันธุ์พืชและต้นไม้ที่หาได้ยากมากมาย
4. วัดฉงเซิง (Chongshengsisanta)
เป็นวัดศาสนาพุทธที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรน่านเจ้า ปัจจุบันเป็นที่รู้จักเนื่องจากเป็นที่ตั้งของ “เจดีย์ 3 องค์” (San Ta) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองต้าหลี่
5. ภูเขาจีจู๋ (Jizushan)
ตั้งอยู่ในอำเภอปินฉวน (Binchuan) เนื่องจากลักษณะของยอดเขาบนภูเขามีลักษณะคล้ายเท้าไก่ จึงถูกเรียกว่า จีจู๋ซาน ซึ่งมีความหมายว่า ภูเขาเท้าไก่ เป็น 1 ใน 5 ภูเขาที่มีร่องรอยสิ่งก่อสร้างของศาสนาพุทธในประเทศจีน บนภูเขามีวัดศาสนาพุทธตั้งอยู่ 3 แห่ง นอกจากนี้ภูเขาจีจู๋ซาน ยังถูกจัดเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติของมณฑลยูนนานอีกด้วย
เทศกาลที่สำคัญของเมืองต้าหลี่
เทศกาลคบเพลิงของชนชาติไป๋ (Baizu Huoba Jie) เป็นเทศกาลที่สำคัญสำหรับชนชาติไป๋ รองจากเทศกาลตรุษจีน โดยจะจัดขึ้นทุก ๆ วันที่ 25 เดือนหก ตามปฏิทินจันทรคติ โดยจัดขึ้นเพื่อรำลึกวีรสตรีชนชาติไป๋ที่มีชื่อว่า “ไป๋ เจ๋” (Bai Jie) ในเทศกาลนี้ผู้หญิงทุกคนจะทาเล็บสีแดง คบเพลิงขนาดใหญ่จะถูกจุดขึ้นภายในตัวเมือง ในขณะที่ประชาชนจะถือคบเพลิงเล็ก ๆ โบกไปมา นอกจากนี้ยังอาจจัดการแข่งม้าด้วย
3. ลี่เจียง
เมืองลี่เจียง เป็นเมืองขนาดเล็กอันสงบเงียบเก่าแก่โบราณกว่า 800 ปี และเคยเป็นจุดแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าตามเส้นทางสาย Tea Horse สายเก่า ย่านเมืองเก่านี้มีชื่อเสียงจากคูคลองและสะพานที่มีอยู่มากมาย จนได้รับการขนานนามว่า "เวนิสแห่งตะวันออก" เมืองเก่าลี่เจียงมีสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมแตกต่างไปจากเมืองโบราณอื่นๆของจีน เนื่องจากเป็นเมืองที่เป็นที่ตั้งรกรากของชาวหน่าซี หรือนาสี มาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งภูเขาและแม่น้ำลำธาร ทิวทัศน์งดงาม ในปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เมืองเก่าและเมืองใหม่ โดยมีภูเขาสิงโตเป็นแนวกั้น ทางฝั่งทิศตะวันตกของภูเขาเป็นเมืองใหม่และฝั่งตะวันออกเป็นเขตเมืองเก่า ความแตกต่างระหว่างเมืองเก่ากับเมืองใหม่มีมากแค่ไหนดูจากอายุซึ่งห่างกัน 700 กว่าปี เมืองเก่าต้ายั่น (Dayan) เป็นชุมชนมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12-13 จากนั้นมาก็กลายเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยกันมาตลอด ส่วนเมืองใหม่นั้นเพิ่งจะสร้างสมัยกองทัพแดงบุกเข้าลี่เจียงเมื่อปี ค.ศ. 1949
ปัจจุบันในเมืองเก่าต้ายั่นมีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 60,000 คน แต่ประชาชนทั่วทั้งเมืองลี่เจียงมีประชากรมากกว่า 300,000 คน ทั้งชาวฮั่น ชาวไป๋ ชาวฟูมี ชาวอี๋ ชาวลีซอ ชาวทิเบต แต่ที่มีมากที่สุดคือชนเผ่านาซี (Naxi) อาศัยอยู่ประมาณ 278,000 คน ไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัดว่าต้นตระกูลชองชาวนาซีมาจากพื้นที่ใดแต่เชื่อกันว่าเป็นเดวลานับพันๆปี ในอดีตชนกลุ่มนี้มีถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน (ในพื้นที่มณฑลชิงไฟ่ กานสู และเสฉวนในปัจจุบัน) ก่อนที่จะถูกชาวเอเชียกลางรุกรานและต้องถอยร่นลงมาทางใต้ในที่สุด
นักชาติพันธุ์ได้ให้ความสนใจศึกษากรณีของชาวนาซีเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาที่ใช้ภาพเป็นสัญลักษณ์ ขนบธรรมเนียม หรือโครงสร้างทางสังคมของชนกลุ่มนี้ ชาวนาซีเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยในโลกที่มีโครงสร้างสังคมแบบสตรีเป็นเพศที่มีบทบาทโดดเด่น ปัจจุบันโครงสร้างนี้ก็ยังคงเห็นได้ชัดในชุมชนนาซี สตรีจะเป็นผู้ประกอบกิจกรรมที่สำคัญๆ และกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายมากและเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงในการจัดการครอบครัวของตน
เครื่องแต่งกายของสตรีชาวนาซีจะมีที่รองหลังเพื่อช่วยลดน้ำหนักของสัมภาระที่ต้องแบกหาม เครื่องประดับรูปกลม 2 ชิ้นใหญ่ และ 7 ชิ้นน้อยๆ ทางด้านหลังของชุดซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระอาทิตย์ พระจันทร์และดาว ซึ่งก็คือฟากฟ้าทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง เครื่องประดับเหล่านี้คือสัญลักษณ์ของสตรีผู้มีหลังสู้ฟ้าทั้งวันและคืน เนื่องจากมีไหล่ที่คุ้มงออันเกิดจากภาระที่ต้องแบกหาม
ในงานพิธีของชุมชนเป็นโอกาสของหญิงสาวที่จะได้เลือกคู่ครอง ชายที่ถูกเลือกจะอาศัยอยู่กับภรรยาของตนเวลากลางคืนเท่านั้น ในเวลากลางวันเขายังคงต้องทำงานอยู่กับมารดาของตนเอง สตรีชาวนาซีทุกคนมีห้องนอนเป็นของตนเอง ห้องนี้จะเป็นที่รโหฐานซึ่งนางจะใช้อยู่ร่วมกับคู่รัก ส่วนผู้ชายนั้นอาศัยอยู่ในห้องรวมกับสมาชิกชายคนอื่นๆในครอบครัว ชุมชนที่เพศหญิงมีบทบาทหน้าที่มากกว่าเช่นนี้บุรุษจึงเป็นเพศที่ให้ความรื่นรมย์กับชุมชน โดยเฉพาะในรูปแบบของการเป็นนักร้อง นักเต้น และนักดนตรี
ตอนเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองลี่เจียง เมื่อปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) ขนาด 7 ริกเตอร์ ทำให้หลายส่วนของเมืองนี้พังเสียหาย ปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารต่างๆขึ้นใหม่ แต่ไม่ค่อนน่าดูนัก เป็นการสร้างขึ้นใหม่แบบหยาบๆไม่มีศิลปะ เปรียบไม่ได้กับบ้านเรือนในเมืองเก่าต้ายั่น นับเป็นโชคดีที่แผ่นดินไหวคราวที่ผ่านมา (ค.ศ. 1996) เมืองเก่าต้ายั่นปลอดภัย ยังคงเก็บรักษาไว้เหมือนเดิม เป็นเมืองเก่าแก่กว่า 800 ปี มีผู้คนอาศัยมาโดยตลอด เป็นเมืองที่มีชีวิตมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตัวเมืองตั้งอยู่บนเชิงเนิน มีธารน้ำไหลผ่านกลางเมืองถึงสามสาย เหนือผิวน้ำใสมีสะพานหินขนาดเล็กนับไม่ถ้วน มักจะเห็นชาวบ้านเดินลงบันไดมาเพื่อซักผ้า ล้างจาน หรือหย่อนถังลงมาเพื่อตักน้ำทางหน้าต่าง การที่มีสายน้ำลำธารไหลผ่านลานบ้านของชาวบ้าน ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินไปกับความสวยงามในทิวทัศน์ธรรมชาติ ถนนที่เมืองเก่าปูด้วยหินแกรนิตแดงเป็นก้อนๆ มันลื่นราวกับถูกเจียระไน แสดงว่าผ่านการใช้งานหรือโดนเหยียบย่ำมานานหลายศตวรรษ นับเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่เมืองเก่าต้ายั่นได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี ค.ศ. 1997 โดยองค์การสหประชาชาติ
พื้นที่ของเมืองลี่เจียงประกอบด้วยไปด้วยเขต 1 เขต (เขตเมืองเก่า) และ 4 ตำบล รวมทั้งย่านเมืองใหม่ลี่เจียง เมืองเก่าต้ายั่น เมืองเก่าซูเหอ เมืองเก่าไป๋ซา และบางส่วนของช่องเขาเสือกระโจน
สิ่งที่น่าสนใจของเมืองลี่เจียง คือ วัฒนธรรมตงปา (Dongba) ของชนเผ่าน่าซี (Naxi) ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อักษรตงปา (Dongba Scripture)ซึ่งเป็นอักษรภาพโบราณของชนเผ่าน่าซี วัฒนธรรมตงปา (Dongba) ของชนเผ่านาซีมีลักษณะพิเศษกว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ คำว่า “ตงปา” ในภาษานาซีแปลว่า “ผู้ยึดมั่นคัมภีร์” หมายถึง ผู้ฉลาด ชนเป่านาซีถือคัมภีร์ตงปาเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิต เวลามีงานพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานสมรส หรืองานศพ คัมภีร์ตงปาจะมีบทบาทสำคัญ คัมภีร์ดังกล่าวขับทึกด้วยหนังสือภาพที่เขียนตามรูปลักษณ์สิ่งของตามธรรมชาติ ในคัมภีร์นี้มีศัพท์ 2,000 กว่าคำ นอกจากจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาแล้ว ยังบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน สุภาษิต ปรากฏการณ์ดวงดาว งานการเกษตร นิทานอิงประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่า ประเพณีนิยม ฯลฯ ตัวหนังสือตงปาเป็นตัวหนังสือภาพที่เขียนตามรูปลักษณ์สิ่งของตามธรรมชาติ แม้กระทั่งป้ายของร้านค้าที่ ถนนสื้อฟัง ซึ่งเป็นถนนที่เจริญที่สุดในเมืองลี่เจียง ก็ยังคงเห็นตัวหนังสือแบบนี้อยู่
สถานที่ท่องเที่ยว
1. เมืองเก่าลี่เจียง (Lijiang Gucheng) หรือที่เรียกกันว่า เมืองเก่าต้าเหยียน (Dayan) เป็นเมืองเก่าที่มีอายุกว่า 800 ปี สร้างขึ้นในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song) และราชวงศ์หมิง (Ming) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 14 ตารางกิโลเมตร มีประชาชนพักอาศัยอยู่ประมาณ 4,200 ครัวเรือน ลักษณะพิเศษของเมืองเก่านี้คือ บ้านชั้นเดียวที่สร้างด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ทางเดินในเมืองที่ทำจากหินทั้งหมด สะพานเล็ก ๆ ที่สร้างจากหินและไม้กว่า 354 สะพาน และคลองเล็กใสที่ไหลผ่านทั่วเมืองจนได้รับการขนานนามว่า “Oriental Venice” ซึ่งคลองเหล่านี้ยังคงป็นแหล่งน้ำอุปโภคที่สำคัญ โดยมีต้นน้ำมาจากภูเขาหิมะมังกรหยก โดยน้ำเหล่านี้จะไหลไปรวมกันที่ สวนเฮยหลงถาน นอกจากนี้ บริเวณใจกลางเมืองเก่าลี่เจียงมีลานวัฒนธรรมชื่อว่า Sifang Market ซึ่งในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นตลาดการค้าที่สำคัญ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2539 ทำให้เมืองเก่าลี่เจียงได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่โดยยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ ในปี 2540 เมืองลี่เจียงได้รับคัดเลือกจาก UNESCO ให้เป็นเมืองมรดกโลกทางด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรม
2. ซานเหยียนจิ่ง (Sanyanjing / Three Wells) เป็นบ่อน้ำธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในเมืองเก่าลี่เจียง บ่อน้ำแห่งนี้เป็นบ่อน้ำธรรมชาติ มีลักษณะเป็นบ่อน้ำ 3 บ่อเชื่อมต่อกัน โดยมีต้นน้ำมาจากตาน้ำใต้ดินซึ่งผุดออกมาจากบ่อแรก ถือเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาวน่าซีในอดีต โดยชาวน่าซีได้มีการกำหนดการใช้น้ำในแต่ละบ่อไว้อย่างชัดเจน คือ บ่อแรก เป็นบ่อน้ำสำหรับบริโภค บ่อที่สอง เป็นบ่อน้ำสำหรับล้างผัก และบ่อน้ำที่สาม เป็นบ่อน้ำสำหรับซักผ้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการรู้จักใช้น้ำอย่างประหยัดของชาวน่าซี แม้ว่าเมืองลี่เจียงจะเป็นเมืองที่มีน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ก็ตาม
3. ภูเขาหิมะมังกรหยก (Yulong Xueshan, Jade Snow Dragon Mountian) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเก่าลี่เจียง เป็นภูเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ย 4,000 เมตร เนื่องจากมียอดเขา 13 ยอดเรียงต่อกัน และปกคลุมด้วยหิมะ มีลักษณะคล้ายมังกร จึงถูกเรียกว่า ภูเขาหิมะมังกรหยก เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของเมืองลี่เจียง และยังเป็นแหล่งที่พบพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่หลากหลาย บริเวณยอดของภูเขาหิมะมังกรหยก สามารถนั่งกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปได้ ซึ่งถือเป็นจุดชมวิวเมืองลี่เจียงที่สวยงาม และเป็นยอดเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี
4. ทุ่งหญ้ายูนซานผิง (Yunshanping) ตั้งอยู่บริเวณไหล่เขาทิศตะวันออกของยอดเขาหลักของภูเขาหิมะมังกรหยก เป็นทุ่งหญ้าที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,240 เมตร
เป็นจุดชมวิวยอดเขาหิมะมังกรหยก ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่มแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่หลังป่าต้นยูนซาน (หรือต้นฉำฉา) และต้นสนที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของจามรี วัว แพะ และม้าที่ชาวบ้านชนเผ่าน่าซีเลี้ยงไว้ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีการจัดแสดงการเต้นรำและร้องเพลงของชนเผ่าน่าซี ทุ่งหญ้ายูนซานผิงสามารถขึ้นไปได้โดยนั่งกระเช้าไฟฟ้า
5. สระน้ำมังกรดำ (Heillongtan, Black Dragon Pool) หรือที่รู้จักกันว่า สวนยู้วฉวน (Yuquan) ตั้งอยู่ในตัวเมืองลี่เจียง ห่างจากตัวเมืองเก่าลี่เจียงไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 11,390 ตารางเมตร สระน้ำมังกรดำมีจุดเด่นที่ความใสของน้ำที่ใสราวกับมรกต นอกจากนี้ ภายในสวนยังมีสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชาวฮั่น ทิเบต และน่าซี ไว้ด้วยกัน อาทิ สะพาน Suocui ซึ่งเป็นสะพานหินอ่อนสีขาว ตั้งอยู่กลางสระน้ำมังกรดำ, Dayue Pavilion ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (Ming), วัด Longsheng พิพิธภัณฑ์ตงปา และสถาบันศึกษาวัฒนธรรมตงปา ภายในสระน้ำมังกรดำยังเป็นจุดชมวิวภูเขาหิมะมังกรหยกที่สวยงามอีกด้วย
6. บ้านตระกูลมู่ (Mujiayuankezhan, Mu’s Mansion) เมื่อ 470 ปีก่อน ตระกูลมู่เป็นตระกูลที่ปกครองเมืองลี่เจียงถึง 22 รุ่น (คือสมัยราชวงศ์หยวน หมิง และชิง) ในยุคดังกล่าว เมืองลี่เจียงมีเพียง 2 ตระกูล ซึ่งตระกูล (หรือแซ่) จะเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางสังคม คือ แซ่มู่ เป็นชนชั้นปกครอง และแซ่เหอ เป็นชนชั้นแรงงาน ในสมัยที่ตระกูลมู่ปกครองเมืองลี่เจียงนั้น ได้ห้ามการสร้างกำแพงล้อมรอบเมือง เนื่องจากผู้ปกครองเมืองแซ่มู่ ซึ่งแปลว่าต้นไม้ หรือไม้ หากสร้างกำแพงล้อมรอบเมือง ก็เปรียบเสมือนวาดกรอบล้อมรอบคำว่า มู่ ซึ่งจะทำให้อักษรมู่ในภาษาจีน กลายเป็นคำว่า คุน ซึ่งแปลว่า การกักขัง ซึ่งจะไม่เป็นมงคลต่อตระกูลมู่ ตระกูลมู่ยังสั่งให้ชาวบ้านสร้างธรณีประตูบ้านให้สูง เพื่อมิให้คนทั่วไปเหยียบธรณีประตู ซึ่งทำจากไม้ ซึ่งเปรียบเสมือนการเหยียบย่ำตระกูลมู่ นอกจากนี้ ยังให้ชาวบ้านสร้างคานบ้านให้ต่ำ เพื่อให้ทุกคนต้องก้มหัวให้กับคานบ้าน ซึ่งทำจากไม้ เพื่อให้ชาวบ้านระลึกตลอดเวลาว่าต้องให้ความเคารพแก่ตระกูลมู่ สถาปัตยกรรมในบ้านตระกูลมู่เป็นศิลปะสมัยราชวงศ์ หมิง (Ming) ผสมผสานกับวัฒนธรรมชนเผ่าน่าซี มีการจัดสวนโดยนำพันธุ์ไม้หายากหลายชนิดมาจัดวางเข้าด้วยกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเปิดกว้างที่จะรับสิ่งใหม่ ๆ จากภายนอก ตระกูลมู่เป็นตระกูลที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ภายในบริเวณบ้านมีหอสมุดขนาดใหญ่ชื่อว่า “หอสมุดหมื่นเล่ม” เพื่อเป็นแหล่งความรู้สำหรับลูกหลานภายในตระกูล มีห้องประชุมภายใน ซึ่งในอดีตใช้เป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกในตระกูล และมีลานสำหรับจัดการแสดงดนตรี และงานรื่นเริงภายในตระกูลด้วย
7. โค้งแรกแม่น้ำแยงซี (Changjiangdiyiwan) ห่างจากเมืองเก่าลี่เจียง 53 กิโลเมตร เกิดจากแม่น้ำแยงซี (หรือที่คนจีนเรียกว่า แม่น้ำฉางเจียง) ที่ไหลลงมาจากที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต มากระทบกับภูเขาไห่หลอ ทำให้ทิศทางของแม่น้ำหักโค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนเกิดเป็นโค้งน้ำที่สวยงาม
8. หุบเขาเสือกระโจน (Hutiaoxia) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างทางแยกของเมืองลี่เจียงและเมืองจงเตี้ยน เป็นหุบเขาในช่วงที่แม่น้ำแยงซีไหลลงมาจากจินซาเจียง (แม่น้ำทรายทอง) น้ำบริเวณนี้ไหลเชี่ยวมาก ช่วงที่แคบที่สุดมีความกว้างเพียง 30 เมตร ตามตำนานเล่าว่า ในอดีตช่องแคบนี้มีเสือกระโดดข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามได้ เนื่องจากกลางแม่น้ำบริเวณนี้มีหินที่เรียกว่า “หินเสือกระโดด” ซึ่งก้อนหินมีความสูงกว่า 13 เมตร จึงเป็นที่มาของชื่อ “ช่องแคบเสือกระโดด”
9. ทะเลสาบหลูกูหู (Lugu Hu) ห่างจากตัวเมืองลี่เจียงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 280 กิโลเมตร ทะเลสาบครอบคลุมพื้นที่ 58 ตารางกิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล 2,690 เมตร มีความลึกเฉลี่ย45 เมตร โดยมีจุดที่ลึกที่สุดถึง 90 เมตร จัดเป็นทะเลสาบที่ลึกเป็นอันดับสองของมณฑลยูนนาน ภายในทะเลสาบมีเกาะ 5 เกาะ 1 หมู่เกาะ และมีแหลมที่ยื่นไปในทะเลสาบ 3 แหลม น้ำในทะเลสาบใสมาก สามารถมองเห็นได้ชัด (Visibility) ภายในระยะ 11 เมตร
4. สิบสองปันนา
เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา หรือชื่อย่อว่า ซีไต่ ตั้งอยู่ทางใต้สุดของมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สิบสองปันนา มีความหมายว่า "นาสิบสองพัน" หรือ "นา 12,000 ผืน" อีกนัยหนึ่งก็คือ 12 เมือง มีเมืองเอก คือ เมืองเชียงรุ่ง
เขตปกครองตนเองพิเศษสิบสองปันนามีเนื้อที่ประมาณ 19,700 ตาราง กม. มีอาณาเขตติดกับ แขวงหลวงน้ำทา แขวงพงสาลี ของประเทศลาวและ รัฐฉาน ของ พม่า โดยมีชายแดนยาวถึง 966 กิโลเมตร และมีแม่น้ำโขงไหลผ่านตอนกลาง สิบสองปันนา มีความหมายว่า "12 อำเภอ" คำว่า "พันนา" ไม่ได้หมายถึง นาพันผืน "พันนา" เป็นหน่วยการปกครองของคนไทในอดีต ตามหนังสือพงศาวดารโยนก เชียงรายมีพันนา พะเยามี ๓๖ พันนา ถ้าเท่ากับหน่วยการปกครองปัจจุบัน ก็คือ "อำเภอ"
ประวัติ
ในสมัยโบราณนั้น เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรน่านเจ้า มีเมืองหลวงอยู่ที่ หนองแส หรือ เมือง ต้าลี่ ในประเทศจีนปัจจุบันสิบสองปันนานั้นได้เป็นราชอาณาจักรหอคำเชียงรุ้ง เมื่อประมาณ 825 ปีก่อน โดย พญาเจือง หรือสมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งที่ 1 ในตำราของไทย เมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 ชาวมองโกลได้รุกรานอาณาจักรล้านนา ส่วนสิบสองปันนานั้นจึงได้เป็นของมองโกล และก็ได้เป็นของจีนต่อมา(ตามประวัติศาสตร์จีน)
การอ่อนแอของราชวงค์อาฬโวสวนตาลครั้งแรกเริ่มคราวสมัยสมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งที่ 3 (ท้าวอ้ายปุง) รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงค์อาฬโวสวนต๋าน จากนั้นเกิดความวุ่นวายเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ สุดท้ายถึงรัชกาลที่ 24 ท้าวอินเมิง (ท้าวอินเมือง) อาณาจักรสิบสองปันนาเริ่มเป็นปึกแผ่นมากที่สุด การขยายอณาเขตเข้าไปยึดถึงเชียงตุ๋ง เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) เชียงแสน ล้านช้าง จึงเป็นเหตให้การอพยพชาวไทลื้อจากเชียงรุ่งและอีกหลายหัวเมืองลื้อเข้าไปสู่ดินแดนดังกล่าว เพื่อเข้าไปตั้งชุมชนปกครอง หัวเมืองประเทศราช ซึ่งหากมองมาถึงปัจจุบันมีชาวไทลื้อกระจายไปทั่วทั้งเมืองแถน หัวเมืองทางเหนือของลาว ทุกเมือง รัฐฉานของพม่า จนถึงเชียงตุง และแถบไต้คง
สิบสองปันนาดำรงความมั่นคงเฟื่องฟูอยู่ 100 กว่าปี ก็ถูกรุกรานอีกครั้งโดยชาวมองโกล และตกอยู่ในการปกครองของจีนอีกครั้งในปี พ.ศ. 1835 การสิ้นสุดอำนาจการปกครอง และการยอมรับอำนาจของมองโกล เมื่อรัชกาลที่ 33 เมื่อพระเจ้ากรุงจีนส่งตราหัวเสือ(จุ่มกาบหลาบคำ)มาให้เป็นตราแผ่นดินแทนตรานกหัสดีลิงก์ การเปลี่ยนชื่อเจ้าผู้ครองนคร จากชื่อภาษาไทลื้อ เป็นภาษาจีน เริ่มขึ้นในยุคนี้ เจ้าผู้ครองนครชาวไทลื้อถูกเรียกว่าเจ้าแสนหวีฟ้า
เมื่อ พุทธศตวรรษที่ 21 พม่าได้ก่อตั้งอาณาจักรตองอู และขยายอาณาเขตของตนไปทางตะวันออก พม่าได้โจมตีสิบสองปันนา ต่อจากนั้นจึงได้แบ่งเมืองเชียงรุ้งเป็น สิบสองปัน และก็เป็น เมืองในปัจจุบัน ได้แก่ เมืองฮาย ม้าง หุน แจ้ ฮิง ลวง อิงู ลา พง อู่ เมืองอ่อง และ เชียงรุ้ง จึงเรียกเรียกเมืองแถวๆ นี้รวมกันว่า สิบสองปันนา ในช่วงสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมพม่า และ ศาสนาได้เข้าไปในสิบสองปันนา
ตามเอกสารที่ได้บันทึกเมื่อปี พ.ศ. 2113 จัดแบ่งไว้ ดังนี้
เมืองเชียงรุ่ง เมืองยาง เมืองฮำ รวมเป็น 1 พันนา
เมืองแจ เมืองมาง (ฟากตะวันตก) เมืองเชียงลู เมืองออง เป็น 1 พันนา
เมืองลวง เป็น 1 พันนา
เมืองหน เมืองพาน เชียงลอ เป็น 1 พันนา
เมืองฮาย เชียงเจือง เป็น 1 พันนา
เมืองงาด เมืองขาง เมืองวัง เป็น 1 พันนา
เมืองหล้า เมืองบาน เป็น 1 พันนา
เมืองฮิง เมืองปาง เป็น 1 พันนา
เชียงเหนือ เมืองลา เป็น 1 พันนา
เมืองพง เมืองมาง (ฟากตะวันออก) เมืองหย่วน เป็น 1 พันนา
เมืองอูเหนือ เมืองอูใต้ เป็น 1 พันนา
เมืองเชียงทอง อีงู อีปาง เป็น 1 พันนา
เมืองภูแถนหลวง เวียงคำแถน เป็น 1 พันนา
สมัยหลังราชวงศ์มังราย
หลังจากพระเจ้ากาวิละได้ปลดปล่อยเชียงใหม่ และ อาณาจักรล้านนา จาก พม่าแล้ว พระเจ้ากาวิละทรงพิจารณาเห็นว่าเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นเป็นเมืองร้าง เพราะผู้คนหนีภัยสงคราม อีกทั้งในกำแพงตัวเมืองเชียงใหม่ยังมีต้นไม้เถาวัลย์ปกคลุม ชุกชุมด้วยเสือ สัตว์ป่านานาพันธ์ ผู้คนของพระองค์มีน้อยไม่อาจบูรณะซ่อมแซมเมืองใหญ่ได้ ดังนั้นจึงยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนโดยไปตีเมืองไตในดินแดน ๑๒ ปันนา ทั้งไตลื้อ ไตโหลง(ไทใหญ่) ไตขึน (คนไตลื้อในเมืองเชียงตุง) ไตลื้อเมืองยอง ไตลื้อเมืองลวง ไตลื้อเมืองพน เมืองหย่วน เมืองล่า มาอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และ น่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรียกกันว่ายุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" อันเป็นวิธีฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาวิธีหนึ่ง เพราะในช่วงก่อนนั้น พม่าได้กวาดต้อนชาวล้านนาไปอยู่ที่ พุกาม และ มัณฑะเลย์ ไปจำนวนมาก
ในช่วงสงครามโลกสิบสองปันนานั้น ตกอยู่ในแผ่นดินจีน ถูกยุบเมืองเชียงรุ่งจากเมืองหลวงเป็นแค่เมือง พร้อมๆกับเจ้าทั้งหลายด้วย โดยเคยมีเจ้าปกครองอยู่ถึง 45 พระองค์ ในปัจจุบัน คนที่มีแซ่เต๋า (刀) ก็คือ เจ้าในสิบสองปันนาที่เคยครองเมืองทั้งหลายเหล่านี้
เขตการปกครองในสิบสองปันนาจะแบ่งเป็น 3 เมือง ได้แก่ เมืองเชียงรุ้ง เมืองฮาย เมืองล่า
ป่าเขตร้อนของแคว้นนี้ยังคงเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นช้าง เสือ งูหลาม หมี เสือดาว รวมไปจนถึง สัตว์และนกหายากอีกนานับชนิด ป่าดงดิบของแคว้นนี้ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 247,100 เอเคอร์ และที่นี่ยังเป็นแหล่งของผลไม้นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น กีวี่ มะม่วง กล้วย และมะละกอ ซึ่งขึ้นอยู่ในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์บริเวณหุบห้วยเชิงเขา ส่วนพื้นที่ป่าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจอยู่มากมาย เช่น ไม้มะฮอกกานี ไม้สัก ไม้การบูร และไม้จันทน์
การเดินทางเข้าแคว้นสิบสองปันนาวิธีที่สะดวกที่สุดคือ บินจากคุนหมิงไปยังเมืองจิ่งหง (Jinghong) ชาวบ้านจะมีหน้าตาผิวพันธุ์คล้ายคนจีน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวชนบทจากหมู่บ้านน้อยใหญ่รอบๆ เมือง โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ซึ่งตามปกติเป็นวันที่มีตลาดนัด คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไต (เป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากเป็นหนึ่งในสามของประชากรที่นี่) บางส่วนเป็นชาวฮาหนี่ (Hani) มีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเทือกเขาห่างไกล และบางส่วนก็เป็นชาวจิโหนว (Jinuo) ชนชาติอื่นๆ
แคว้นสิบสองปันนาเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับคนไทยมากที่สุด มีชนกลุ่มน้อยชาวไทยอาศัยกันอยู่เป็นจำนวนมาก จนทางการจีนยกให้แคว้นสิบสองปันนาเป็นประเทศไทยจำลองของจีน ชาวแคว้นสิบสองปันนามีประเพณีและวัฒนธรรมเหมือนกันกับต่างจังหวัดในประเทศไทยที่ขึ้นชื่อก็คือ ประเพณีสงกรานต์ อากาศที่นี่คล้ายภาคเหนือของไทย อุณหภูมิเฉลี่ย 19-25 องศา
เมืองอื่น ๆ
1. เมืองไคหย่วน (Kaiyuan) เป็นเมืองศูนย์กลางทางการคมนาคมขนส่งทางตอนใต้ของมณฑล ยูนนาน ตั้งอยู่ในเขตหงเหอ
2. เมืองเป่าซาน (Baoshan) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของมณฑลยูนนาน มีทรัพยากรธรรมชาติในเขตร้อนมาก เมืองเป่าซานเป็นแหล่งผลิตอ้อย และกาแฟอาราบีก้าที่สำคัญของจีน
3. เมืองฉู่สง (Chuxiong) ตั้งอยู่ระหว่างนครคุนหมิงกับเมืองต้าหลี่ เมืองฉู่สงเป็นเมืองหลักของเขตปกครองตนเองชนชาติอี๋ฉู่สง (Chuxiong Yi Autonomous Prefecture) เมืองฉู่สงมีชื่อเสียงในการผลิตผ้าไหม และบุหรี่
4. เมืองจ้าวทง (Zhaotong) ตั้งอยู่ติดกับมณฑลเสฉวน (Sichuan) และกุ้ยโจว (Guizhou) เป็นเมืองสำคัญในด้านการผลิตของมณฑลยูนนานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
5. เมืองซือเหมา (Simao) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน มีท่าเรือที่สำคัญริมฝั่งแม่น้ำโขง
6. เมืองรุ่ยลี่และหว่านติง (Ruili and Wanding) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน อยู่ในเขตเต๋อหง (Dehong) มีพรมแดนติดต่อกับประเทศพม่า ทั้งสองเมืองเป็นเมืองการค้าชายแดนที่มีความสำคัญของมณฑล เป็นที่ตั้งเขตความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชายแดน และเปิดให้เป็นเมืองเปิดสำหรับชาวต่างชาติ
7. เมืองเหอโข่ว (Hekou) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน อยู่ในเขตเหวินซาน (Wenshan) มีชายแดนติดกับประเทศเวียดนามและเป็นเขตการค้าชายแดน
8. เมืองเหวินซาน (Wenshan) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน มีชื่อเสียงในการผลิตสมุนไพรจีน เช่น ซานชี ซึ่งมีสรรพคุณคล้ายโสมจีน
9. เมืองหลูสุ่ยและเมืองจงเตี้ยน (Lushui and Zhongdian) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก
10. เมืองหลินชัง (Lincang) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน เป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจเขตร้อน และเป็นที่ตั้งของเขื่อนม่านวาน (Manwan Hydro Power Station)
|