ประวัติศาสตร์

ภูมิประเทศ

ภูมิอากาศ

วัฒนธรรมประเพณี






























ประเทศจีน

ชื่ออย่างเป็นทางการ : สาธารณรัฐประชาชนจีน
เมืองหลวง : ปักกิ่ง มีพื้นที่ 16,800 ตารางกิโลเมตร ประชากร : 30 ล้านคน
พิกัด : 39°55’N 116°23’E
ที่ตั้ง : เอเชียตะวันออก บนฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก
ภาษาทางการ : ภาษาจีนกลาง
รูปแบบการปกครอง : รัฐบาลคอมมิวนิสต์
เนื้อที่ : 9,596,960 ตารางกิโลเมตร
ประชากร : 1,330,044,605 คน
สกุลเงิน : หยวนเหรินหมินปี้ (CNY)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ : 9.24 ล้านล้าน USD (พ.ศ. 2556)
รหัสโทรศัพท์ : +862

ประวัติความเป็นมา
สาธารณะรัฐประชาชนจีน หรือ ประเทศจีน (China) ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียตะวันออก บนฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองลงมาจากรัสเซียและแคนาดา แต่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ถึงกว่า 1.3 พันล้านคน โดยมีเมืองหลวง คือ กรุงปักกิ่ง (Beijing) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทั้งด้านการปกครอง ด้านเศรษฐกิจการค้า ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี และด้านวัฒนธรรม อีกทั้งกรุงปักกิ่งยังถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ หน่วยงานของสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศ สำนักข่าวจากต่างประเทศ รวมทั้งบริษัทต่างชาติที่เข้ามาร่วมลงทุนและทำธุรกิจภายในอีกเป็นจำนวนมาก

ที่มาของชื่อ ประเทศ '' จีน '' และ " ไชน่า "
เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าประเทศจีนนั้นเป็นประเทศที่มีอารยธรรมที่มีความโดดเด่นสืบทอดต่อกันมายาวนาน ถึง 5,000 ปี โดยในส่วนของชื่อของประเทศจีนนั้น นักประวัติศาสตร์หลายท่านต่างได้สันนิษฐานกันมาว่า น่าจะมาจากการที่บุคคลภายนอกที่ไม่ได้อาศัยอยู่ภายในประเทศ เรียกชื่ออาณาจักรแห่งนี้ตามชื่อของ " อาณาจักรฉิน (Qin Kingdom) " หรือ " จิ๋น " เหตุเพราะ ในอดีต แคว้นฉินสามารถทำสงครามชนะแว่นแคว้นอื่นๆได้สำเร็จ จึงได้ทำการรวมอำนาจการปกครองให้ขึ้นอยู่ที่แคว้นฉินแต่เพียงผู้เดียว แคว้นฉินจึงถือว่าเป็นอาณาจักรแห่งแรกของจีนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นอาณาจักรที่เริ่มต้นความรุ่งเรืองและค่อยๆสร้างความเจริญก้าวหน้าในยุคประวัติศาสตร์ของจีนเลยก็ว่าได้ และคำว่าฉินนี้เอง ที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้น และแผลงมาจนกลายเป็นคำว่า จีน (Chin) ซึ่งก็ถูกใช้เรียกจากทุกชนชาติมาจวบจนปัจจุบัน ต่อมาก็เกิดคำว่า " ไชน่า (China) " ขึ้น เนื่องจาก ชาวเปอร์เซียในฝั่งตะวันตกที่รู้จักและพูดถึงจีนอยู่บ่อยๆนั้น มักจะพูดถึงกันในเรื่องของผ้าไหมและเครื่องเคลือบ เครื่องปั้นชั้นดีที่จีนแต่สมัยโบราณเป็นผู้ผลิต ทำให้คนตะวันตกที่ไม่ว่าจะเห็นเครื่องเคลือบชั้นดีที่ไหน หรือผลิตมาจากที่ใดก็ตาม ก็มักจะเรียกเหมารวมว่า มาจาก ไชน่า เพราะเหตุนี้คนตะวันตกจึงยกย่องดินแดนต้นกำเนิดเครื่องเคลือบชั้นดีว่า ไชน่า แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่คำที่คนตะวันตกใช้เรียกประเทศของคนจีนเท่านั้น เพราะคนจีนเองกลับเรียกประเทศตนเองว่า " จงกั๋ว " ซึ่งมีหมายความว่า " ประเทศอันเป็นศูนย์กลาง " เพราะเชื่อว่าแผ่นดินที่พวกตนอาศัยอยู่นั้น ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของโลกพอดี โดยมีผืนน้ำ และ เกาะแก่งต่างๆ ตั้งอยู่ล้อมรอบแผ่นดินจีน โดยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แต่ยังมีอีกคำหนึ่งที่คนจีนใช้เรียกประเทศของตน คือคำว่า " จงหัว " ซึ่ง " จง " มีความหมายว่า เป็นศูนย์กลาง ส่วน " หัว " มีความหมายว่า ความบรรเจิดหรือแจ่มจรัส เพราะคนจีนในอดีตเชื่อว่า ประเทศของตนเป็นประเทศที่มีความเหนือชั้นกว่าแผ่นดินอื่นๆในโลก " ความ เป็นศูนย์กลางแห่งความแจ่มจรัส " จึงน่าจะเป็นความหมายโดยรวมที่แท้จริงที่คนจีนต้องการสื่อให้คนในแผ่นดินอื่นได้รับรู้

ประวัติศาสตร์จีน อดีต (ก่อตั้ง) สู่ปัจจุบัน
ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอารยธรรมยาวนาน ถึง 5,000 ปี ซึ่งรองลงมาจากอารยธรรมอียิปต์เท่านั้น โดยรากฐานที่สำคัญของอารยธรรมจีน คือ การสร้างระบบภาษาเขียนเป็นของตนเอง ให้เป็นภาษากลางที่สามารถใช้ได้ทั่วประเทศเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งถึงแม้ว่าชนเผ่าแต่ละพื้นที่ในประเทศจะพูดแตกต่างกันหรือใช้สำเนียงแตกต่างกันเพียงใด แต่ก็จะใช้ภาษาเขียนที่ถูกกำหนดขึ้นมาใช้เหมือนกัน
กำเนิดประเทศจีน สมัยก่อนประวัติศาสตร์
1. ยุคหินเก่า จีนถือเป็นดินแดนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ยาวนานมากที่สุดในทวีปเอเชีย ซึ่งหลักฐานที่ค้นพบคือ มนุษย์หยวนโหม่ว (Yuanmou Man) มีอายุประมาณ 1,700,000 ปี ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1965 ที่มณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน และพบโครงกระดูกมนุษย์ปักกิ่ง (Beijing Ren) มีอายุประมาณ 700,000 ปี - 200,000 ปี โดยถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1929 ที่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปักกี่ง และยังได้ค้นพบหลักฐานของมนุษย์ถ้ำ (Shan Ding Dong Ren) มีอายุประมาณ 18,000 ปี โดยถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1930 ที่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปักกี่ง 2. ยุคหินกลาง ค้นพบว่าวิถีชีวิตของคนในยุคนี้จะใช้ชีวิตกันแบบกึ่งเร่ร่อน ล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ไม่มีแหล่งที่ตั้งหรือแหล่งที่ทำมาหากินที่ถาวรมากนัก โดยมีอายุประมาณ 10,000 - 6,000 ปีมาแล้ว หลักฐานที่พบ คือ เครื่องถ้วยชาม หม้อ และเครื่องมือหินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หินสับ หินขูด และหัวธนู เป็นต้น 3. ยุคหินใหม่ มีการค้นพบว่า เริ่มตั้งถิ่นฐานกันเป็นหลักแหล่งมากขึ้น กลายเป็นชุมชนขนาดย่อม มีอายุอยู่ประมาณ 6,000 - 4,000 ปีมาแล้ว โดยในยุคนี้ มีการเพาะปลูกข้างฟ่าง เลี้ยงสัตว์ และยังทำเครื่องปั้นดินเผา และทอผ้า โดยใส่สีสันที่หาได้จากธรรมชาติ มาแต่งเติมให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น
4. ยุคโลหะ มีอายุประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว หลักฐานสำคัญที่ค้นพบ คือ มีดทองแดง และยังพบเครื่องสำริดที่เก่าเก่าที่สุดด้วย ซึ่งถูกนำมาใช้ทำภาชนะต่าง ๆ เช่น ที่บรรจุไวน์ กระถาง กระจกเงา ที่มีขนาดใหญ่และสวยงามมากขึ้น
ในสมัยนั้น ได้เกิดเหตุอุทกภัย (น้ำท่วม) ครั้งใหญ่ขึ้น ทำลายบ้านเมืองเสียหายจนหมดสิ้น ถึงขั้นที่ประชาชนต้องอพยพไปอาศัยอยู่บนต้นไม้หรืออาศัยอยู่บนยอดเขาได้แค่เท่านั้น โดยภายหลังพระเจ้าอี่ กษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงค์เซี่ย ได้ใช้เวลาทั้งสิ้น 13 ปี ในการจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้เป็นผลสำเร็จ ฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับมามีความสงบเรียบร้อยดังเดิม จนท่านได้รับขนานนามว่า ต้า - ยวี่ " พระเจ้าอี่ผู้ยิ่งใหญ่ " ท่านขึ้นปกครองประเทศจีนในช่วง 2,100 - 1,600 ปี ก่อนคริสต์กาล มีอำนาจอยู่แถบมณฑลชานสีในปัจจุบัน ใกล้กับลุ่มแม่น้ำเหลือง ในสมัยนั้นได้เกิดการสืบทอดราชวงศ์และราชสมบัติจากพ่อสู่ลูก พี่สู่น้องไปเรื่อยๆ เป็นลักษณะการปกครองประเทศด้วยวงศ์สกุลเดียวกันเป็นครั้งแรกในประเทศจีนตามความเชื่อเดิมที่พระเจ้าอี่ยังคงเห็นความสำคัญอยู่                                                                                                ราชวงศ์เซี่ยมีประวัติศาสตร์ยาวนานเกือบ 500 ปี มีกษัตริย์ขึ้นปกครองราชย์ทั้งสิ้น 17 พระองค์ จนกระทั่งมาถึง สมัยของพระเจ้าเจี๋ย  พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีนิสัยโหดร้าย ไร้คุณธรรม ประชาชนทั้งหลายต่างเกลียดชังเป็นอย่างมาก จนเกิดการปฏิวัติของประชาชนทำสงครามขับไล่พระเจ้าเจี๋ยออกไปได้สำเร็จ ต่อมาพระองค์ก็ทรงสิ้นพระชนม์ที่หนานเฉา (อำเภอเฉาเซี่ยน มณฑลอานฮุย ในปัจจุบัน) หลังจากนั้นราชวงศ์เซี่ยก็ล่มสลายลงอย่างสมบูรณ์

- ราชวงศ์ซาง (1,600 - 1,046 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

          ราชวงศ์ซางมีอำนาจอยู่ประมาณ 550 ปี คือ ตั้งแต่ 1,600 - 1,046 ปี ก่อนคริสต์ศักราช มีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ทั้งสิ้น 31 พระองค์ " ทัง " ผู้นำเผ่าซาง เป็นผู้ที่มีอำนาจอยู่แถบเมืองซาง ที่ทำการโค่นล้มการปกครองของราชวงศ์เซี่ยนั้น ได้ทำการสถาปนาราชวงศ์ซางขึ้นมาแทน โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ เมืองปั๋ว (อำเภอเฉาเซี่ยน มณฑลซานตงในปัจจุบัน)
             การครองราชย์ของพระเจ้าซางทังและทายาทนั้นมีความสงบสุขเรียบร้อยกันดี บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข จนกระทั่งถึงสมัยของพระเจ้าโจวหวัง พระองค์นี้ก็ทรงเป็นผู้ที่เหี้ยมโหด ชอบขูดรีดขูดเนื้อประชาชนเช่นเดียวกันกับพระเจ้าเจี๋ย เพื่อจะนำไปสร้างอุทยาน " สระสุรา , ป่านารี " เพื่อตอบสนองความสุขของตนเองและพวกขุนนาง จึงเกิดการรวมตัวของเผ่าโจวที่อาศัยบนที่ราบสูง รวมตัวกับเผ่าอื่นๆ และบุกโจมตีกองทัพของพระเจ้าโจวหวังจนพ่ายแพ้แก่ศึก  เมื่อราชวงศ์ซางล่มสลายลง ก็เกิดการสถาปนาราชวงศ์โจวขึ้นมาปกครองแผ่นดินแทน
                ในยุคนี้ได้มีหลักฐานค้นพบว่าเริ่มมีการใช้ภาชนะสำริดกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะประเภท ถ้วยสุรา มีดวงพระจันทร์ กลองสำริด     

- ราชวงศ์โจว (1,046 - 256 ปี ก่อนคริสต์ศักราช)

นักประวัติศาสตร์จีนแบ่งราชวงศ์โจวออกเป็น โจวตะวันตก และโจวตะวันออก ซึ่งมีระยะการปกครองครองแผ่นดินต่อเนื่องกัน 790 ปี (ยาวนานที่สุดในจีน)   

- ราชวงศ์โจวตะวันตก (1,046 - 771 ปี ก่อนคริสต์ศักราช)  
                เผ่าโจวอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเว่ยเหอ ต่อมาย้ายถิ่นไปอยู่ ฉีซาน (ด้านเหนืออำเภอฉีซาน มณฑลฉ่านซี ในปัจจุบัน) ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้านการเพาะปลูกมากกว่า แล้วเรียกตนเองว่า ชาวโจว เมื่อผู้นำเผ่าโจว นามว่า " จีฟา " ทำลายราชวงศ์ซางสำเร็จแล้ว จึงสถาปนาราชวงศ์โจวขึ้นปกครองแผ่นดินแทน และเปลี่ยนพระนามเป็น " พระเจ้าโจวอู่หวัง " และสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ เมืองเฮ่า (ด้านตะวันตกของอำเภอฉางอาน มณฑลส่านซี ในปัจจุบัน)
                ในราชวงศ์โจวตะวันตกนี้ ยังมีการริเริ่มบำเหน็จความชอบด้วยที่ดินและทรัพย์สินแก่ขุนนางที่สร้างความดีความชอบแก่แผ่นดินหรือเจ้าแผ่นดินเป็นครั้งแรกด้วย                                                                                                                     ราชวงศ์โจวจะมีการกำหนดตำแหน่งของกษัตริย์หรือเจ้านครรัฐที่จะสืบทอดไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องเป็นเฉพาะบุตรคนโตของภรรยาคนแรกเท่านั้น ซึ่งบุตรคนอื่นๆก็จะได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งต่างๆที่ลดต่ำลงไป      และเมื่อถึงสมัยของ " พระเจ้าโจวโยวหวัง " เมืองหลวง คือ เมืองเฮ่า ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงขึ้น เกิดโรคระบาด เกิดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ตามมา โดยที่กษัตริย์ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ มัวแต่ลุ่มหลงอยู่กับสุรานารี ของมึนเมา เสพความสำราญไปวันๆ ไม่ยอมออกว่าราชการเลย ขุนนางก็ไม่ยอมทำตามหน้าที่ของตน สุดท้ายจึงเกิดการเข้าโจมตีและลอบปลงพระชนม์พระเจ้าโจวโยวหวัง และนี่ถือเป็นสมัยสุดท้ายของราชวงศ์โจวตะวันตก

- ยุคชุนชิว (770 - 256 ปี ก่อนคริสต์ศักราช)                                                                                     

ยุคชุนชิวมีทั้งหมด 5 นคร คือ ฉี้หวนก้ง , ซ่งเสี่ยงก้ง , จินเหวินก้ง , ชินหมู่ก้ง และฉู่จวงหวาง  หลังจากราชวงศ์โจวตะวันตกของพระโจวโยวหวัง ได้ล่มสลายลง โดยเป็นความร่วมมือของเจ้านครรัฐบางคนในราชวงศ์นั้นกับเผ่าเฉวี่ยนหรงแล้ว พวกเขาก็ได้สถาปนารัชทายาท " อี้จิ้ว " ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ นามว่า " พระเจ้าโจวผิงหวัง " และตั้งเมืองหลวงใหม่ที่ เมืองลั่วอี้
 
- ยุคเลียดก๊ก                                                                                                                                                                                 
               
เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจหรือแผ่ขยายอิทธิพลกันมากมายหลายรัฐ โดยเหลือเพียง 7 รัฐมหาอำนาจอยู่ในตอนปลายของยุคชุนชิว ถูกเรียกว่า " 7 มหานครรัฐแห่งยุคจั้นกั๋ว " ได้แก่ รัฐฉี , รัฐฉู่ , รัฐเยียน , รัฐหาน , รัฐเจ้า , รัฐเว่ย , และรัฐฉิน ยุคสมัยนี้มีสงครามดุเดือดระหว่างรัฐต่อเนื่องเพื่อแย่งชิงดินแดนนั้นๆมาเป็นของตน  ยุคนี้สิ้นสุดโดยการขึ้นครองอำนาจของ " จิ๋นซีฮ่องเต้ (พระเจ้าฉินสื่อหวงตี้) " แห่งรัฐฉิน

สมัยราชวงศ์
- ราชวงศ์ฉิน (221 - 206 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) จีนยุคจักรวรรดิ
ราชวงศ์ฉินมีอายุอยู่ได้เพียงแค่ 12 ปีเท่านั้น เมืองหลวงตั้งอยู่ที่เซียงหยาง (บริเวณเมืองซีอาน ในปัจจุบัน ) มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ คือ กำแพงเมืองจีน หรืออีกชื่อหนึ่งว่า กำแพงหมื่นลี้  ผลงานอื่นๆ ที่พระองค์ทรงสร้างและกำหนดขึ้นใช้ เช่น ระบบกฎหมาย การเขียนหนังสือ และระบบเงินตรา เป็นต้น และพระองค์ก็ได้ทรงผนึกกำลังต่างๆ จนกลายเป็นมหาอำนาจทั้งทางทหาร เศรษฐกิจ และสังคมไว้ได้อย่างเป็นปึกแผ่นและเหนียวแน่น และในราชวงศ์นี้เอง ที่เป็นผู้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นแบบรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง และยกเลิกระบบกษัตริย์ไป จึงถือว่าพระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิ์องค์แรกของประเทศจีน

- ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ปี ก่อนคริสต์ศักราช - ค.ศ. 220)
            เมื่อเล่าปังเอาชนะเซี่ยงอี่ได้สำเร็จ จึงสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฮั่น  มีพระนามใหม่ว่า " สมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นเกาจู " โดยตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เมืองฉางอาน (ใกล้กับเมืองซีอาน มณฑลส่านซี ในปัจจุบัน) แล้วเรียกชื่อประเทศว่า อาณาจักรฮั่น
                นักประวัติศาสตร์จีนได้แบ่งยุคสมัยของราชวงศ์ฮั่นออกเป็นสองยุคตามที่ตั้งของเมืองหลวง คือ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เริ่มต้นโดยพระเจ้าฮั่นเกาจู่  โดยมีราชวงศ์ซินของ " อองมัง " มาคั่น เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเกิดการฟื้นฟูอีกครั้ง และ ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เริ่มต้นที่พระเจ้าฮั่นกวงอู่  โดยย้ายนครหลวงไปที่เมืองลั่วหยาง

- ราชวงศ์ซิน (ค.ศ. 9 -23)                                                                                                                                                                                
ราชวงศ์ซิน มีเป็นเพียงราชวงศ์สั้นๆ ผู้ก่อตั้ง คือ อองมัง ทรงได้อำนาจมาจากการปฏิวัติโค่นล้มจักรพรรดิฮั่น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ราชวงศ์ฮั่นก็ฟื้นฟูกลับขึ้นมาอีกครั้ง

- ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 23 - 220)                                                                                                                                                                  
ราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์ที่ถูกฟื้นฟูกลับขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ถูกอองมังยึดอำนาจ โดยให้กลับมาเป็นราชวงศ์ฮั่นดังเดิม แต่ย้ายเมืองหลวงใหม่ไปอยู่ที่เมืองลั่วหยางแทน                                                                     ก่อนที่ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจะเสื่อมอำนาจลงนั้น ได้เกิด กบฏโจรโพกผ้าเหลือง ขึ้น ใน ค.ศ. 184 (พ.ศ. 727) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคขุนศึก หลังจากนั้นได้มีอาณาจักรสามแห่งตั้งประชันกัน เรียกว่า ยุคสามก๊ก ซึ่งเป็นที่มาของวรรณกรรมเรื่องสามก๊กที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง และเนื่องด้วยความเจริญก้าวหน้าของชนชาติจีนในยุคราชวงศ์นี้ คนจีนส่วนใหญ่จึงเรียกตนเองว่า เป็น " ชาวฮั่น " สืบต่อกันเรื่อยมา    

- ยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220 - 280)                                                                                                                                                                                 
 
ยุคนี้เป็นยุคที่แผ่นดินจีนแตกออกเป็น 3 ก๊ก โดยมีก๊กของ เล่าปี่ , ก๊กของ โจโฉ และก๊กของ ซุนกวน ต่างรบแย่งชิงความเป็นใหญ่กันในแผ่นดินจีน  เริ่มจากการที่ " พระเจ้าเหี้ยนเต้ " ถูกบุตรชายของโจโฉขับออกจากบัลลังก์ แผ่นดินจีนจึงแตกออกเป็นอีก 3 แคว้น                                                                                                                                                                                 
ค.ศ. 263 (พ.ศ. 806) ก๊กเล่าปี่ล่มสลาย                                                                                                                                                
ค.ศ. 265 (พ.ศ. 808) ก๊กโจโฉถูกขุนศึกภายใน ชื่อ สุมาเอี๋ยน ยึดอำนาจ และสุมาเอี๋ยนก็ได้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นขึ้น และเริ่มครองราชย์ในนามของราชวงศ์จิ้น                                                                                                                                                                        
ค.ศ. 280 (พ.ศ. 823) ก๊กซุนกวนล่มสลาย สุมาเอี๋ยนสามารถครอบครองแผ่นดินจีนได้อย่างสมบูรณ์  

- ราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265 - 317)
สุมาเอี๋ยน ได้สถาปนาตนเองเปลี่ยนชื่อเป็น " จิ้นอู่ตี้ "  โดยได้ก่อตั้งราชวงค์จิ้นตะวันตกใน ปี ค.ศ. 265 (พ.ศ. 808) แทนที่ราชวงศ์วุ่ยของโจโฉที่เคยปกครองมา เมื่อถึงปี ค.ศ. 280 (พ.ศ. 823) ราชวงศ์จิ้นตะวันตกสามารถปราบง่อก๊กลงได้ จึงรวมแผ่นดินทั้งหมดที่ได้มาให้เป็นปึกแผ่น และยุติยุคสามก๊กลงตั้งแต่นั้น ส่วนในขณะนั้นราชวงศ์จิ้นได้ทำการเปิดรับชนเผ่าทางเหนือให้เข้ามาเป็นจำนวนมาก ภายหลัง หลิวชง บุตรชายของหัวหน้าชนเผ่าที่เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่ แต่กลับประกาศตนเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับฝ่ายใด ได้ยกกองกำลังเข้าบุกเข้าไปที่เมืองลั่วหยาง และจับ จิ้นหวยตี้  ผู้ปกครองแผ่นดิน เป็นตัวประกันและสำเร็จโทษในเวลาต่อมา

- ราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317 - 420)                                                                                                                                                                    
            เนื่องจากการล่มสลายลงของราชวงศ์จิ้นตะวันตก ทำให้แผ่นดินจีนตกอยู่ในสภาวะแตกแยก จึงเกิดการย้ายฐานที่มั่นทางการปกครองและเมืองหลวงลงไปทางใต้ และสถาปนา ราชวงศ์จิ้นตะวันออก ในปี ค.ศ. 317 - 420 ขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางตอนเหนือกลับวุ่นวายอย่างหนักจนแตกออกเป็นแคว้นของชนเผ่าต่างๆ 16 แคว้น เรียกยุคนี้ว่า ยุคห้าชนเผ่าสิบหกแคว้น เป็นยุคสั้นๆ ที่ทำให้เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมของชาวจีนเชื้อสายต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน

- ราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 420 - 581)                                                                                                                                                                              
ลังจากการล่มสลายของราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265 – 316) ภาคเหนือของจีนก็ตกอยู่ในภาวะก่อการจลาจลและสงครามชนเผ่าของยุค 16 แคว้น จนมาถึง ค.ศ. 386 หัวหน้าเผ่า ทั่วป๋าเซียนเปย ได้สถาปนาแคว้น เป่ยวุ่ย และตั้งเมืองหลวงที่เมืองผิงเฉิง (ปัจจุบันคือ เมืองต้าถง ในมณฑลซันซี) ยุติความวุ่นวายจากสงครามแย่งชิงอำนาจที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของจีนได้ใน ค.ศ. 439                            
เมื่อถึงปี ค.ศ. 581 หยางเจียน ปลด โจวจิ้งตี้ ลงจากบัลลังก์ และสถาปนาราชวงศ์สุยขึ้น  ต่อมาจึงยกทัพลงใต้ หยุดการแบ่งแยกเหนือ - ใต้ ได้เป็นผลสำเร็จ                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                
- ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 - 618)
สุยเหวินตี้ฮ่องเต้ ได้รวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นได้อีกครั้ง แต่โอรสคือ สุยหยางตี้ ไม่มีความสามารถเพียงพอ ทำให้ซ้ำรอยการปกครองตามแบบของราชวงศ์ฉิน บรรดาผู้ปกครองหัวเมืองต่างพากันตั้งตนเป็นใหญ่และแย่งอำนาจกันเอง ราชวงศ์สุยจึงอยู่ได้เพียงไม่นาน                                                                                                                                            พอมาภายหลังการรวมแผ่นดินของราชวงศ์สุยแล้ว สภาพสังคมโดยรวมก็กลับมาได้รับการฟื้นฟูจากภาวะสงคราม มีการเติบโตด้านการผลิตมากขึ้น  เกิดความสงบสุขระยะหนึ่ง สุยเหวินตี้ฮ่องเต้  ได้ดำเนินการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ โดยยุบรวมเขตปกครองในท้องถิ่น ลดขนาดองค์กรบริหาร รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ฮ่องเต้กุมอำนาจเด็ดขาดทั้งในทางทหาร การปกครองและเศรษฐกิจ โดยมีขุนนางเป็นเพียงผู้ช่วยในการบริหารเท่านั้น เหมือนในยุคของราชวงศ์ฉิน

- ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 - 907)
                หลี่หยวน หรือ ถังเกาจูฮ่องเต้ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสมัยราชวงศ์สุย ได้ก่อการสงครามที่ดินแดนไท่หยวน เพราะได้บุตรชายคนรอง หลี่ซื่อหมิน ช่วยในการทำศึก จนได้รับชัยชนะมาอย่างต่อเนื่อง และได้ตั้งเมืองหลวงที่เมืองฉางอัน (เมืองฉางอันเป็นเมืองหลวงของหลายราชวงศ์ เช่นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ราชวงศ์สุย ราชวงศ์จิ้นตะวันออก) ขึ้น โดยผู้นำของแค้วนถังได้สถาปนาตนเองเป็นอิสระจากสุยหยางตี้ และได้ชัยชนะเด็ดขาดจากแคว้นอื่นๆ ในที่สุด ภายหลัง โอรสองค์รองหลี่ซื่อหมิน ได้ยึดอำนาจจากรัชทายาท หลี่เจี้ยนเฉิง และโอรสองค์ที่สาม หลี่หยวนจี๋ ไว้เอง สุดท้าย หลี่เอียน สละราชสมบัติ หลี่ซื่อหมินจึงขึ้นเป็น ถังไท่จงฮ่องเต้ และเริ่มต้นยุคถังอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่ากับยุคฮั่น ทั้งทางทหาร การค้า ศิลปะ                นอกจาก จักรพรรดิถังไท่จง แล้ว ในสมัยถังนี้ยังมี จักรพรรดิถังสวนจง ซึ่งในสมัยของพระองค์ ด้านการกวีมีความรุ่งเรื่องมาก และต่อมาก็เสื่อมอำนาจลงเพราะปลายสมัยของพระองค์นั้นทรงไม่สนใจในกิจการงานของบ้านเมือง และในระหว่างนั้นเอง ก็ได้เกิด ฮ่องเต้หญิงคนแรกของประเทศจีน ซึ่งก็คือ พระนางบูเช็กเทียน แต่ก็เกิดการปฏิวัติขึ้นมาอีก ทำให้ราชวงศ์ถังเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่นั้น

- ยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร (ค.ศ. 907 - 960)                                                                                                                                                       
  
ตอนปลายราชวงศ์ถังมีการก่อกบฏโดยประชาชนตามชายแดน  ภายในราชสำนักก็เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างขุนนาง ขันทีด้วยกันเอง จนมีแม่ทัพนายหนึ่ง ชื่อ จูเวิน (จูเฉวียนจง) ทำการสังหารขันทีโกงบ้านเมืองในราชสำนัก แล้วสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ ทำให้ราชวงศ์ถังสิ้นสุด บรรดาหัวเมืองต่างๆมีการแบ่งอำนาจกันเป็น ห้าราชวงศ์ คือ ราชวงศ์เหลียง ราชวงศ์ถัง ราชวงศ์จิ้น ราชวงศ์ฮั่น และราชวงศ์โจว โดยปกครองแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห ติดต่อกันมาตามลำดับ ส่วนเขตลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงกับดินแดนทางใต้ลงไปเกิดเป็นรัฐอิสระอีก 10 รัฐ เรียกว่า สิบอาณาจักร  ต่อมา เจ้าควงอิ้น ผู้บัญชาการทหารได้ชิงเอาอำนาจจากราชวงศ์โจว แล้วตั้งตนสถาปนาราชวงศ์ซ่งหรือซ้อง เป็น พระเจ้าซ่งไท่จู่ แล้วปราบปรามรวมเอาอาณาจักรที่แบ่งแยกออกไปกลับคืนมาเป็นอาณาจักรเดียว จนกระทั่ง พระเจ้าซ่งไท่จง ผู้สืบทอดราชบัลลังก์คนต่อมา รวมแผ่นดินสำเร็จ ก็ใช้เวลาไปเกือบ 20 ปี

- ราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960 - 1279)
ปี ค.ศ. 960 เจ้าควงอิ้น หรือ พระเจ้าซ่งไท่จู่ ได้สถาปนาราชวงศ์ซ่งหรือซ้องเหนือ ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เมืองไคฟง (มณฑลเหอหนาน ในปัจจุบัน) และรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนสำเร็จ  แล้วใช้นโยบายแบบ " ลำต้นแข็ง กิ่งก้านอ่อน " ในการบริหารประเทศ ปฏิรูปการปกครอง การทหาร และการคลัง อันมีประโยชน์ในการสร้างเสถียรภาพแก่อำนาจส่วนกลาง แต่ส่วนท้องถิ่นกลับอ่อนแอ เมื่อต้องทำสงคราม ย่อมไม่มีกำลังต่อต้านศัตรูได้ อำนาจการใช้กระบวนการยุติธรรมจะถูกควบคุมโดยส่วนกลาง

- ราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1279 - 1368)
ในยุคนี้ประเทศจีนถูกปกครองโดยชาวมองโกล นำโดย หยวนชื่อจู่ หรือ กุบไลข่าน ซึ่งโค่นราชวงศ์ซ่ง ตั้งเป็นราชวงศ์หยวน หรือราชวงศ์มองโกลขึ้น ยุคสมัยนี้ได้มีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาค้าขาย เช่น มาร์โคโปโล มีการพิมพ์ธนบัตรจีนขึ้นครั้งแรก และมีการส่งกองทัพออกไปรุกราน ชวา เวียดนาม ญี่ปุ่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ                                                                                                                                                      หลังจากกุบไลข่านสิ้นพระชนม์ ชนชั้นมองโกลทั้งหลายก็ได้กดขี่ชาวจีนอย่างรุนแรง จนเกิดการกบฏ และสะสมกองกำลังทหารและกลุ่มต่อต้านขึ้น ในช่วงปลายราชวงศ์หยวน จูหยวนจาง ได้ปราบปรามกลุ่มต่างๆ และขับไล่ราชวงศ์หยวนออกไปจากแผ่นดินจีนได้สำเร็จ

- ราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 - 1644)              
ราชวงศ์หมิง ถูกสถาปนาโดย จูหยวนจาง (จักรพรรดิหมิงไท่จู่) เมื่อปี ค.ศ. 1368 เวลา 31ปี แห่งการครองอำนาจ พระองค์ได้สังหารขุนนางและผู้คนที่มีความเห็นไม่ตรงกับตนเอง และปราบปรามอิทธิพลที่ต่อต้านพระองค์ แต่หลังจากจักรพรรดิหมิงไท่จู่สวรรคตแล้ว จักรพรรดิเจี้ยนเหวินซึ่งเป็นพระราชนัดดาองค์หนึ่งได้ขึ้นครองราชย์แทน ต่อมาไม่นาน จูตี้ ผู้เป็นปิตุลาของจักรพรรดิเจี้ยนเหวิน ได้โค่นอำนาจรัฐของจักรพรรดิเจี้ยนเหวินลง จูตี้ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ หรือ จักรพรรดิหยุงเล่อ ในปี ค.ศ. 1421 จักรพรรดิหย่งเล่อได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองหนานจิงไปยังกรุงปักกิ่ง                                                                                             
ความก้าวหน้าของราชวงศ์นี้                                                                                                              
1. มีการพัฒนาการเกษตร ซ่อมแซมแม่น้ำและคูคลองหลายสาย ช่วยลดภาระและสร้างความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนได้ในระดับหนึ่ง                                                                                                                       
2. การเกษตรมีความก้าวหน้า และพัฒนามากกว่ายุคก่อนมาก                                                                                    
3. การทอผ้าไหม และการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาชั้นดี มีความก้าวหน้ารุ่งเรือง                                       
4. การทำเหมืองเหล็ก การหล่อเครื่องทองเหลือง การผลิตกระดาษ การต่อเรือ ก็มีการพัฒนาอย่างมาก                                                                                                                                                        
5. การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศมีบ่อยครั้งมากขึ้น                                           
6. เศรษฐกิจการค้าเริ่มเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นแบบทุนนิยม                                                                   
7. แก้ไขปัญหาคนพเนจร โดยการลดและงดภาษีอากรให้พวกเขา และได้จัดสรรที่ดินให้พวกเขาได้ทำกิน                                                                                                                                                         
8. มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆทางการเกษตร เช่น ใบยาสูบ มันเทศ ข้าวโพด และถั่วลิสง เป็นต้น เพื่อให้เกิดความหลากหลายและเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรมีช่องทางในการเพาะปลูกผลผลิตมากขึ้น ทำให้เกิดรายได้ในการภายในและที่เข้ามาจากการส่งออกมากขึ้นตามไปด้วย                                                                                                                                                                    
9. เพราะการคมนาคมที่สะดวก ทำให้เกิดเป็นธุรกิจในรูปของศูนย์การค้า ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก                                                                                         
ในสมัยราชวงศ์หมิง มีวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงต่างๆ เช่น " ซ้องกั๋ง " " สามก๊ก " " ไซอิ๊ว "   " จินผิงเหมย " หรือ " บุปผาในกุณฑีทอง " เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อเขียนและบทประพันธ์ที่มีลักษณะคลาสสิกต่างๆ เช่น " สารคดีบันทึกการท่องเที่ยว " ของสวี เสียเค่อ ในด้านภูมิศาสตร์ " ตำราสมุนไพร " ของหลี่ สือเจิน ในด้านแพทยศาสตร์ " ชมรมหนังสือวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตร " ของสวี กวางฉี นักเกษตรศาสตร์  " เทียนกุงไคอู้ " หรือ " สารานุกรมเทคโนโลยีด้านการเกษตรและหัตถกรรม " ของนายซ่งอิ้งซิง นักวิชาการด้านหัตถกรรม " สารานุกรมหย่งเล่อ " ซึ่งเป็นชุมนุมรวมเอกสารและวิทยานิพนธ์เป็นต้นก็ล้วนประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงทั้งสิ้น                                                                                                                                                           ในช่วงปลายราชวงศ์หมิง สภาพการผูกขาดที่ดินรุนแรงมาก พระราชวงศ์และบรรดาเจ้านายที่ได้รับการแต่งตั้งมีที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาษีอากรของรัฐบาลก็นับวันมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นต่างๆของสังคมก็นับวันรุนแรงขึ้น มีเสนาบดีและขุนนางบางคนพยายามจะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมให้เบาบางลง และเรียกร้องให้ยับยั้งสิทธิ พิเศษของเสนาบดีขันทีและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย เสนาบดีเหล่านี้เทียวบรรยายวิชาการและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองจึงถูกเรียกกันว่าเป็น”พรรคตงหลินตั่ง” แต่แล้วพวกเขาก็ต้องถูกเสนาบดีขันทีและขุนนางที่มีอำนาจโจมตีและทำร้าย ซึ่งยิ่งทำให้สังคมวุ่นวายมากยิ่งขึ้น                                                                                                                                                                                            
การต่อสู้ในชนบทก็ทวีความรุนแรงขึ้น ในปี ค.ศ. 1627 มณฑลส่านซี เกิดทุพภิกขภัย แต่ข้าราชการยังคงบีบบังคับให้ประชาชนจ่ายภาษี จนทำให้เกิดการลุกขึ้นต่อสู้ ประชาชนที่ประสบภัยเป็นพันเป็นหมื่นรวมตัวขึ้นเป็นกองทหารชาวนาหลายกลุ่มหลายสาย จนปี ค.ศ. 1644 กองทหารชาวนาบุกเข้าไปถึงกรุงปักกิ่ง จักรพรรดิฉงเจินซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ หมิงต้องผูกพระศอสิ้นพระชนม์                                                                                                                   และในสมัยราชวงศ์หมิงมีการส่งกองเรือออกเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปจนถึงแอฟริกา โดยท่านเจิ้งเหอและบันทึกที่ชาวอังกฤษเชื้อสายจีนเขียนไว้บางฉบับ บอกไว้ว่ามีหลักฐานแสดงว่าจีนเดินทางไปอเมริกาก่อนโคลัมบัส
- ราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644 - 1912)      
            เริ่มบุกเบิกและสร้างราชวงศ์ชิง โดย ชิงไทจงฮ่องเต้ จักรพรรดิ์บนหลังม้า ปฐมกษัตริย์ชื่อ จักรพรรดิ์หวงไท่จี๋ , ซุนจื่อ และคังซี และจักรพรรดิบัลลังก์เลือด หย่งเจิ้น (องค์ชายสี่) ,จักรพรรดิ์เจ้าสำราญ เฉียนหลง (หลานหงษ์ลิ) ศึกล่าบัลลังก์ทอง เจี่ยชิ่ง และเต้ากวง                                                                                                                                                                                            
   มีจักรพรรดิ์ในราชวงศ์นี้ รวมทั้งสิ้น 13พระองค์ ซึ่ง จักรพรรดิ์ปูยี เป็นจักรพรรดิ์องค์สุดท้าย และเป็นราชวงศ์สุดท้ายก่อนสถาปนาเป็นระบบสาธารณรัฐ เป็นราชวงศ์ของเผ่าแมนจูเลีย ซึ่งเป็นชนต่างชาติทางเหนือที่เข้ามาปกครองประเทศจีนต่อจากราชวงศ์หมิง ซึ่งภายหลังที่เกิด " ศึกกบฏราชวงศ์หมิง " ภายในประเทศจีน กบฏเปิดประตูเมืองให้แมนจูเลียเข้ายึดครอง ทำให้ได้รับสมยานามกษัตริย์ ชิงไทจงฮ่องเต้ เพราะเข้ายึดเมืองได้โดยไม่ต้องลงจากหลังม้า เป็นราชสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  การตรวจตราข้อบังคับของสังคม  ศาสนา และ การค้าทางเรือที่รุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งก็ว่าได้ คือ การให้ชายจีนไว้ผมหางเปียและใส่เสื้อแบบแมนจูเลีย คือ ปิดแขนเสื้อและขา เลียนแบบสมัยราชวงศ์ถังเก่า พร้อมใส่ประคำ 500 เม็ด และต้องนับถือศาสนาพุทธจีน  เพื่อบ่งบอกถึงอารยธรรมชนเผ่าของตนว่ามีศาสนาและอารยธรรมยาวนาน

จีนยุคใหม่
- ยุคสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912 - 1949)                                                                                                                                                                            
ปี พ.ศ. 2454 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ ซึ่งเป็นการปฏิวัติกลายมาเป็นสาธารณรัฐโดย ดร. ซุนยัดเซ็น ราชวงศ์ชิงถูกยึดอำนาจในปีนั้น และใน พ.ศ. 2455 ผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์ชิง และการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีน ดร. ซุนยัดเซ็น เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณยาสิทธิราชย์ซึ่งปกครองด้วยสิทธิขาดของจักรพรรดิ มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย อันมีจักรพรรดิเป็นประมุข  ซึ่งหลังจากซุนยัดเซ็นเสียชีวิต ก็เป็นช่วงเวลาชิงอำนาจระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย คือ เจียงไคเช็ค กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ นำโดย เหมาเจ๋อตุง ช่วงแรกเจียงไคเช็คเป็นฝ่ายชนะและทำการปฏิวัติได้สำเร็จ สุดท้ายกลุ่มผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งรวมตัวกันขับไล่ เจียงไคเช็คหนีไปยังเกาะไต้หวัน และสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นแทน

- ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. 1949 - ปัจจุบัน)                                                                                                                                   
ประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋งในสงครามกลางเมืองจีน เหมา เจ๋อตุง ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ที่กรุงปักกิ่งบน จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

โปรแกรมทัวร์เเนะนำ